กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
เนื่องจากวันที่ 25 มิถุนายน เป็นวันที่สภากาควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ(International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders ,ICCIDD) ได้ทูลเกล้าถวายเหรียญทอง ICCIDD แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2540 เพราะพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการวินิจฉัยปัญหา และพระราชทานแนวทางการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน อันเป็นหลักชัยให้พสกนิกรไทยรวมพลังร่วมใจขจัดภัยโรคขาดสารไอโอดีน ให้ลดน้อยลงจนอยู่ในระดับที่ควบคุมได้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกพระองค์เดียวของโลกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเห็นชอบให้วันที่ 25 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ
ความสำเร็จในการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยประการหนึ่ง คือ การที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับเป็นองค์ประธานคระกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 พระองค์ทรงสนพระทัยให้การสนับสนุนส่งเสริมการควบคุมโรค ขาดสารไอโอดีน มาโดยตลอด เป็นผลให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ดังจะเห็นได้จากอุบัติการณ์ของโรคขาดสารไอโอดีนลดลงอย่างมากจนถึงปัจจุบัน
โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การรณรงค์ส่งเสริมห้ประชาชนใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ปรุงประกอบอาหารเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า โรคขาดสารไอโอดีน เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติ ที่พบในประชาชนที่กินอาหารที่มีสารไอโอดีนน้อย หรือไม่มีเลยเป็นประจำ หรือประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารแถบภูเขา
โรคขาดสารไอโอดีน เป็นโรคที่ทำลายความเป็นมนุษย์ อย่างสิ้นเชิง เพราะคนที่เป็นโรคดังกล่าว จะมีความบก พร่องในการพัฒนาการทางสมอง ทำให้เป็นใบ้ งั่ง หูหนวก ตาเหล่ เตี้ย แคระแกรนอาจจะเรียกได้ว่า มีความพิการทั้งทางร่างกายและสมอง แม้การให้ไอโอดีนภายหลังจะทำให้ร่างกายทารก และเด็กเจริญเติบโตได้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขสติปัญญาให้กลับมาอยู่ในระดับตามศักยภาพเดิมได้
หากสังคมใด หรือประเทศใดเต็มไปด้วยคนเป็นโรคขาดสารไอโอดีน ก็จะทำให้สังคมนั้นเต็มไปด้วยคนพิการคุณภาพชีวิตของผู้คนด้อยลง เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการพัฒนาประเทศชาติ
ดังนั้น เพื่อให้โรคขาดสารไอโอดีนหมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย จงพร้อมใจขจัดภัยโรคขาดสารไอโอดีน เพื่อป้องกันและควบคุมโรคนี้โดยใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน และน้ำปลาเสริมไอโอดีนในการปรุงประกอบอาหาร และรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีการเสริมไอโอดีน
ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/07/74066/