คุณกำลังมองหาอะไร?

โรคแอนแทรกซ์ (ANTHRAX)”

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

29.03.2567
124
0
แชร์
29
มีนาคม
2567

“โรคแอนแทรกซ์ (ANTHRAX)”

       เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อ Bacillus anthracis พบได้ 3 ชนิด คือ เป็นแผลที่ปอด เป็นแผลที่ผิวหนัง หรือ เป็นแผลที่ทางเดินอาหาร ขึ้นกับช่องทางการติดเชื้อ โรคแอนแทรกซ์มีความเกี่ยวข้องกับโปรแกรมการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 95 เป็นชนิดแผลที่ผิวหนัง (Cutaneous anthrax)

       ระบาดวิทยา : สถานการณ์ทั่วโลก : ในปี พ.ศ. 2551 มีรายงานโรคแอนแทรกซ์ทั้งในคนและในสัตว์ในประเทศจีนอินเดีย มองโกเลีย อัฟกานิสถาน คาซัคสถาน และคีร์กิซสถาน ในประเทศเวียดนามพบผู้ป่วยสงสัยทางภาคเหนือของประเทศ และในประเทศลาวพบการระบาดของโรคในโคและแพะที่แขวงจำปาสักสถานการณ์โรคในประเทศไทย : จากรายงานการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา พบว่า ไม่มีผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ไม่พบการติดเชื้อในสัตว์ในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ควรเฝ้าระวังโรคในสัตว์ที่ค้าขายผ่านทางชายแดนเนื่องจากยังมีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ในเกษตรผู้เลี้ยงสัตว์ในประเทศลาวระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2553

อาการของโรค :

  1. โรคแอนแทรกซ์ผิวหนัง (Cutaneous anthrax)จะเริ่มด้วยอาการคันบริเวณที่สัมผัสเชื้อ ตามมาด้วยตุ่มแดง (popule) แล้วกลายเป็นตุ่มพองมีนํ้าใส(vesicle) ภายใน 2 - 6 วัน จะเริ่มยุบตรงกลางเป็นเนื้อตายสีดำคล้ายแผลบุหรี่จี้ (eschar) รอบๆ อาการบวมนํ้าปานกลางถึงรุนแรงและขยายออกไปรอบเนื้อตายสีดำคล้ายแผลบุหรี่จี้ (eschar) อย่างสมํ่าเสมอบางครั้งเป็นตุ่มพองมีนํ้าใส (vesicle) ขนาดเล็กแผลบวมนํ้า มักไม่ปวดแผล ถ้าปวดมักเนื่องจากการบวมนํ้าที่แผลหรือติดเชื้อแทรกซ้อน แผลมักพบบริเวณศีรษะ คอ (ดังรูปที่ 1) ต้นแขน และมือ(ดังรูปที่ 2) (พื้นที่สัมผัสโรคบนร่างกาย)


ภาพที่ 1 โรคแอนแทรกซ์ผิวหนังบริเวณคอ (Anthrax lesion on the neck.)

 

ภาพที่ 2 โรคแอนแทรกซ์ผิวหนังบริเวณแขน (Anthrax lesion on volar surface of right forearm.)

  1. โรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ (Inhalational anthrax) เริ่มด้วยอาการคล้ายการติดเชื้อของระบบหายใจส่วนบนที่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ ปวดเมื่อยไอเล็กน้อย หรือเจ็บหน้าอก ซึ่งไม่มีลักษณะจำเพาะต่อมาจะเกิดการหายใจขัดอย่างเฉียบพลัน รวมถึงการหายใจมีเสียงดัง (stridor), อาการหายใจลำบากอย่างรุนแรง เกิดภาวะออกซิเจนลดตํ่าลง(hypoxemia), เหงื่อออกมาก (diaphoresis)ช็อก และตัวเขียว ภาพรังสีพบส่วนกลางช่องอก(mediastinum) ขยายกว้าง (ดังรูปที่ 3) ตามด้วยภายใน 3 - 4 วัน ทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ตรวจพบนํ้าท่วมเยื่อหุ้มปอด และบางครั้งพบ infiltrate จากฟิล์มภาพรังสี

 

รูปที่ 3 ภาพเอกซเรีย์ปอดพบส่วนกลางช่องอก (Mediastinum) ขยายกว้างในผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ ก่อนผู้ป่วยสียชีวิต 22 ชั่วโมง

  1. โรคแอนแทรกซ์ทางเดินอาหาร (Gastrointestinal anthrax) อาจเกิดในจุดใดจุดหนึ่งของลำไส้ และเกิดการอักเสบและบวมนํ้ามาก นำไปสู่การมีเลือดออก อุดตัน เป็นรู และมีนํ้าในช่องท้องมาก โรคแอนแทรกซ์ทางเดินอาหารไม่พบการเสียชีวิตที่แน่นอน แต่ด้วยการรักษา การเสียชีวิตสามารถเพิ่มสูงได้ ด้วยเกิดอาการเลือดเป็นพิษ ช็อก อาการโคม่าและเสียชีวิต

การวินิจฉัยโรค : ทำได้โดยการตรวจหาเชื้อในเลือด แผลหรือสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วย (discharge) โดยการป้ายและย้อมสีด้วยวิธี direct polychrome methylene blue (M’Fadyean) stained smear หรือโดยการเพาะเชื้อบนอาหาร sheep blood agar บางครั้งอาจต้องฉีดหนูmice หรือหนู guinea pigs หรือกระต่าย การตรวจหาเชื้อที่รวดเร็วทำโดยการวินิจฉัยทางอิมมิวโนวิทยา ทั้งวิธีPCR, Direct Fluorescence Antibody test (DFA), Immunohistochemistry (IHC), Time-Resolve Fluorescence assay (TRF) และ ELISA อาจทำได้ในห้องปฏิบัติการอ้างอิงบางแห่ง

การรักษา : ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ให้ผลในการรักษาดีที่สุดสำหรับแอนแทรกซ์ผิวหนัง โดยให้นาน 5-7 วันส่วนเตตราซัยคลิน (Tetracycline), อีริโทรมัยซิน(Erythromycin) และคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ก็ให้ผลดีเช่นกัน ในเหตุการณ์แอนแทรกซ์ปี พ.ศ. 2544 กองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่มใช้ยาซิโปรฟล็อกซาซิน (Ciprofl oxacin) หรือด๊อกซีซัยคลิน (Doxycycline) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจแต่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพการรักษาที่ชัดเจน

การแพร่ติดต่อโรค : คนติดโรคจากการสัมผัสสัตว์ป่วยหรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่มาจากสัตว์ป่วย หรืออาจติดโรคโดยการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป โดยสปอร์ติดอยู่ตามฝุ่นละออง ขนสัตว์ หนังสัตว์

ระยะฟักตัวของโรค : 1 - 5 วัน แต่อาจนานได้ถึง 60 วัน

มาตรการป้องกันโรค :

  1. ให้ศึกษาแก่เกษตรกร โดยเน้นว่า ถ้าสัตว์โดยเฉพาะโค กระบือตายกะทันหัน ไม่ทราบสาเหตุ ให้สงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์และห้ามผ่าซากโดยเด็ดขาดและให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ทันที เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดไปส่งตรวจชันสูตรโรค ควรทำลายซากสัตว์โดยการเผาตรงจุดที่สัตว์ตายไม่ควรเคลื่อนย้ายซาก
  2. ป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ โดยเฉพาะโค กระบือ ทุกปี โดยดำเนินการในบริเวณที่เคยเกิดโรคระบาดหรือบริเวณติดต่อกับพื้นที่เสี่ยง หากมีการระบาดเกิดขึ้นต้องรีบรักษา
  3. ดำเนินการในโรงงานขนสัตว์ หนังสัตว์ อาหารสัตว์ดังนี้

     3.1 ให้สุขศึกษาแก่คนงาน ให้ทราบการป้องกันการติดต่อของโรคนี้

     3.2 จัดระบบการถ่ายเทอากาศและควบคุมฝุ่นละอองภายในโรงงาน ให้เหมาะสม

     3.3 ให้บริการด้านคำปรึกษาและบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง

     3.4 จัดเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนเวลาทำงาน อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือและรองเท้าบู๊ต มีบริเวณชำระล้างและทำความสะอาดร่างกายภายหลังการปฏิบัติงาน และจัดที่รับประทานอาหารแยกจากบริเวณทำงาน โรงงานที่ปนเปื้อนเชื้อต้องรมควันฆ่าสปอร์ด้วยฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde)

     3.5 ล้างและทำลายสปอร์ที่อาจปนเปื้อนมากับวัตถุดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต

     3.6 จัดระบบการจำกัดขยะและของเสีย โดยต้องมีการทำลายเชื้อก่อนนำไปทิ้ง

มาตรการควบคุมการระบาด : การควบคุมการระบาดควรเน้นการทำลายซากสัตว์และการทำลายสปอร์ การฉีดวัคซีนสัตว์ในพื้นที่เกิดโรค การรักษาผู้ป่วย การค้นหาแหล่งที่มาของสัตว์หรือผลิตภัณฑ์สัตว์เพื่อการป้องกันการระบาดซํ้า

ที่มา : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

เอกสารอ้างอิง:

  1. การตรวจวินิจฉัยและยืนยันโรคแอนแทรกซ์. ใน: คู่มือการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์;2552 หน้า 57-58.
  2. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. คู่มือการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ. ใน: การตรวจวินิจฉัยและยืนยันโรคแอนแทรกซ์(Anthrax). กระทรวงสาธารณสุข; 2552. หน้า 57 - 58.
  3. สุรางค์ เดชศิริเลิศ. การวินิจฉัยเชื้อ Bacillus anthracisในห้องปฏิบัติการ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2553.
  4. สุรางค์ เดชศิริเลิศ. โรคแอนแทรกซ์. ใน: แนวทางการตรวจวินิจฉัย โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซํ้าทางห้องปฏิบัติการ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์; 2553. หน้า 42-48.
  5. Heymann DL., Editor, Control of CommunicableDiseases Manual 19th Edition, American Associationof Public Health, 2008.

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน