กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
“การรับมือกับแดดในฤดูร้อน”
ผิวไหม้ คล้ำเสียจากแดด
แสงแดดประกอบด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวีที่ส่งผลกระทบต่อผิวพรรณทำให้ ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยก่อนวัย สีผิวคล้ำเข้ม ขาดความสดใส อาจเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ นอกจากนี้แสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นที่ทำให้เกิดฝ้า คือผื่นสีน้ำตาลที่ใบหน้าโดยเฉพาะที่บริเวณแก้ม จมูก หน้าผาก คาง บริเวณที่ถูกแสงแดด มักจะพบในผู้หญิงวัย 30-40 ปี
วิธีรับมือกับปัญหาผิวไหม้คล้ำเสียและป้องกันฝ้าจากแดดคือ
การเลือกครีมกันแดดที่ดีต้อง SPF สูงๆ จริงหรือ?
ค่า SPF ย่อมาจาก Sunburn Protection Factor เป็นค่าที่บอกความสามารถของครีมกันแดดในการป้องกันการไหม้แดงของผิว ซึ่งเกิดจาก รังสียูวีบี (UVB) โดยปกติยิ่งค่าสูงจะยิ่งทําให้เราอยู่กลางแดดได้นานมากขึ้นก่อนจะมีอาการผิวไหม้แดง ตัวอย่างเช่น ถ้าโดยปกติเรายืนอยู่กลางแดด 10 นาทีแล้วผิวจะมีอาการไหม้แดง แต่ถ้าทาครีมกันแดด SPF 15 เราจะอยู่กลางแดดได้นานขึ้นเป็น 10x15=150 นาที ก่อนจะมีอาการดังกล่าว
ความจําเป็นที่จะต้องเลือก ค่า SPF สูงแค่ไหนก็ขึ้นกับลักษณะการใช้ชีวิตประจําวันของแต่ละคน
SPF 10 – 15 เหมาะสำหรับคนที่ทำงานในร่มตลอดวัน ไม่โดนแดดเลย
SPF มากกว่าหรือเท่ากับ 15 เหมาะสำหรับคนที่มีกิจกรรมกลางแดดระหว่างวัน
SPF มากกว่าหรือเท่ากับ 30 เหมาะกับคนที่อยู่กลางแจ้งมากๆหรือมีโรคกลุ่มแพ้หรือไวแสงแดด
นอกจากนี้การเลือกครีมกันแดดไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่า SPF เพียงอย่างเดียว มีปัจจัยอื่นร่วมด้วยคือ
“ทาก่อน” ทาก่อนที่จะออกแดด 15-30 นาที
“ทาหนา” เนื่องจากการป้องกันแดดจะมีประสิทธิภาพเต็มที่ถ้าทาหนาพอคือต้องใช้ปริมาณ 2 ข้อนิ้ว สําหรับหน้าและคอ หรือแบ่งทาทีละ 1 ข้อนิ้ว ซ้ำสองครั้ง
“ทาซ้ำ” เนื่องจากครีมกันแดดจะถูกเหงื่อและการเสียดสี ชะล้างออกจากผิวหนังเมื่อเวลาผ่านไปดังนั้น ควรทาช่วงเช้า เที่ยง หรือทาทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หากมีเหงื่อมากหรือโดนน้ำ
ประโยชน์ของแสงแดด
แม้แสงแดดจะส่งผลต่อปัญหาผิวแต่แสงแดดยังเป็นแหล่งของวิตามินดี ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น เป็นการเสริมสร้างกระดูก เพื่อการเจริญเติบโต หากจะได้ประโยชน์จากแสงแดด เพียงแค่ให้ใบหน้า แขน ขา สัมผัสกับแสงแดดอ่อนๆในยามเช้า เป็นเวลา 10-15 นาที หรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ก็เพียงพอต่อร่างกาย
ที่มา : นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ย่อโลกสุขภาพไว้ในมือคุณ
: พญ.สินิชญาน์ สหวัฒน์วงศ์ ภาคอายุรศาสตร์ หน่วยโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล