โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) กระดูกพรุน เป็นภาวะที่เนื้อกระดูกบางลงกว่าปกติ เนื้อกระดูกมีความหนาแน่นน้อยลง เพราะสูญเสียแคลเซียมออกจากกระดูกมากกว่าที่จะสร้างแคลเซียมเข้าไปทดแทน ซึ่งมีผลทำให้กระดูกไม่สามารถจะรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้ตามปกติ ทำให้กระดูกหักง่าย
บุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกบางและพรุน
1. สตรีหมดประจำเดือนหรือตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
2. การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำทำให้ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
3. การออกกำลังกายน้อยเกินไป
4. คนผอม รูปร่างเล็กบางจะมีเนื้อกระดูกบางกว่าคนอ้วน
5. กรรมพันธุ์ มีประวัติครอบครัว พ่อ แม่ หรือพี่น้องเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหัก
6. รับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาอลูมินั่ม ยาแก้ลมชัก ยาไทรอกซิน
7. ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุราจัด และดื่มกาแฟมากไป
ปัญหาสุขภาพของการมีกระดูกบางและพรุน
1. ไม่มีอาการใด ๆ
2. ปวดหลัง ปวดกระดูก
3. กระดูกผิดรูปร่าง ได้แก่ หลังโก่ง ค่อม เตี้ยลง ซึ่งมีผลทำให้ท้องอืด ท้องผูกและการทำงานของปอดผิดปกติ
4. กระดูกหัก พบบ่อยที่กระดูกต้นขา กระดูกปลาย แขน และกระดูกสันหลัง
ทราบได้อย่างไรว่ากระดูกบางและพรุน
การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่แม่นยำ และเชื่อถือได้ เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนในปัจจุบัน คือการตรวจด้วยเครื่องตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone densitometer) DEXA : เป็นการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกโดยใช้รังสีเอกซ์ ซึ่งใช้ปริมาณรังสีน้อยมาก ใช้เวลาในการตรวจประมาณส่วนละ 3-5 นาที และรอฟังผลได้ทันที
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
1. ออกกำลังกายเป็นประจำ
2. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็ก ปลาน้อย นมพร่องไขมันเนย และผักผลไม้
3. งดการดื่มสุรา และสูบบุหรี่
4. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจจะมีสารสเตียรอยด์ผสมอยู่ ทำให้กระดูกพรุนได้
เรียบเรียงโดย?นางฐิตินันท์ จันเส นักรังสีการแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น