คุณกำลังมองหาอะไร?

S

Separation Anxiety ที่เดย์แคร์..แก้ง่ายๆ

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

02.06.2559
65
0
แชร์
02
มิถุนายน
2559

Separation Anxiety ที่เดย์แคร์..แก้ง่ายๆ


ความวิตกกังวลต่อการแยกจาก(separation anxiety)ถือเป็นพัฒนาการปกติตามวัยของเด็ก ซึ่งจะเริ่มเกิดเมื่อเด็กอายุ 6 - 8 เดือน เพราะเด็กในวัยนี้เริ่มจะจดจำผู้คนและสถานที่ที่คุ้นเคยได้แล้ว เด็กเล็ก ๆ จะแสดงพฤติกรรมวิตกกังวลต่อการแยกจาก เช่นการร้องตามเมื่อคุณพ่อคุณแม่ไปทำงาน หรือการร้องไห้เมื่อไม่เห็นพ่อ-แม่ หรือผู้เลี้ยงดู พฤติกรรมดังกล่าวจะลดลงเมื่อเด็กโตขึ้น และควรหายไปก่อนอายุ 5 ขวบ ความวิตกกังวลต่อการแยกจากในเด็กมีสาเหตุหลักๆ คือ การขาดความเข้าใจเรื่องการคงอยู่ของวัตถุ ( object permanent) และปัญหาการพัฒนาความรักความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูในขวบปีแรก ทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นคงในความรัก อย่างไรก็ตามความวิตกกังวลต่อการแยกจากแม้จะไม่ใช่ปัญหาที่ติดตัวเด็กไปจนโต แต่ก็ทำให้ผู้ปกครองหลายๆคนเป็นกังวล บางรายอาจเลือกที่จะไม่ส่งลูกมาเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ซึ่งจะทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนา และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ในเด็กเล็กๆที่ความสามารถในการปรับตัวยังอยู่ในระยะพัฒนาการ เมื่อต้องส่งลูกไปอยู่เดย์แคร์ คุณพ่อ คุณแม่ ควรเตรียมความพร้อมเพื่อให้เด็กสามารถปรับตัว ดังนี้
1. พูดคุยถึงข้อดีของการไปเดย์แคร์ เช่น มีคุณครูใจดีมีเพื่อนมากมาย มีของเล่นให้เลือกเยอะเป็นต้น
2. ก่อนเปิดเทอม ให้ขับรถผ่านหน้า เดย์แคร์ และชี้ชวนให้ดู ในวันหลังๆอาจพาลูกเข้าไปเล่นเครื่องเล่นแล้วไปเดินดูห้องเรียน ทำความรู้จักกับคุณครู กับสนามเด็กเล่น เป็นการสร้างความคุ้นเคยแบบค่อยเป็นค่อยไป
3. พ่อแม่ควรมีท่าทีที่สงบระหว่างการแยกจาก ไม่แสดงอาการละล้าละลัง อาจจะยิ้มให้ลูกและกระซิบว่า แม่รักลูกนะ เดี๋ยวแม่เลิกงานแล้วค่อยเจอกัน
4. ควรยืนยันและบอกกับลูกว่า จะมารับเวลาไหน จะทำให้เด็กมีความหวัง รู้จักรอ ถึงแม้เด็กจะยังไม่เข้าใจเรื่องเวลาพ่อแม่อาจจะให้คุณครูช่วยตอบ และควรมารับให้ตรงเวลา โดยเฉพาะช่วงแรกเพราะการมารับช้าผิดเวลา จะยิ่งทำให้ลูกเกิดความไม่มั่นใจ และไม่ยอมมาเดย์แคร์ในวันต่อๆไป
5. เปิดโอกาสให้เด็กมีทางเลือกบ้าง เช่นเด็กอาจมี ตุ๊กตาตัวโปรด หมอน ผ้าห่ม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กคุ้นเคย และเป็นเสมือนตัวแทนของพ่อแม่ทำให้เขารู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ในช่วงแรกอาจอนุโลมให้เอาไปเดย์แคร์ ด้วย โดยให้เลือกว่า วันนี้หนูจะเอาพี่หมี หรือเป็ดก๊าบๆ ไปเดย์แคร์ (ให้เด็กค่อยซึมซับว่ายังไงก็ต้องไปเดย์แคร์)
6. เด็กแต่ละคนอาจมีระยะเวลาในการปรับตัวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางอารมณ์ การเลี้ยงดูและท่าทีของพ่อแม่
7. การเตรียมลูกก่อนเข้าเดย์แคร์ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการด้านทักษะทางสังคมของเด็ก ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่จะได้เรียนรู้ว่าลูกเป็นปัจเจกบุคคล มีอิสระแยกจากพ่อแม่ ถ้าประคับประคองให้ดีเด็กจะผ่านช่วงนี้ไปได้ และมีสังคมนอกบ้านแห่งใหม่ที่จะหล่อหลอมให้เด็กเติบโตเป็นประชากรไทยที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ คือเก่ง ดี มีสุข นั่นเอง
ข้อมูล โดยนางกัลยา ทองธีรกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มการพยาบาล รพ.ส่งเสริมสุขภาพ ศอ.7
 
 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน